พม.จังหวัดตรัง สานพลังเครือข่ายจัดใหญ่งานวันคนพิการสากลจังหวัดตรัง

       ในวันอังคารที่ 9 มกราคม 2567 ณ อาคารศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง จัดงานวันคนพิการสากลจังหวัดตรัง ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวเพื่อพลิกฟื้นและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับคนพิการ เพื่อคนพิการ โดยคนพิการ” (United in action to rescue and achieve the SDGs for, with and by persons with disabilities) โดย นายวิชาญ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง กล่าวต้อนรับ และนายธเนศ ต้องชู ประธานสภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัดตรัง เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมีผู้ร่วมงานประกอบด้วย คนพิการ ครอบครัวคนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ องค์กรด้านคนพิการ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทั่วไป ประมาณ 800 คน
      นายวิชาญ กล่าวว่า สืบเนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ทุกวันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคนพิการสากล และเชิญชวนให้ประเทศสมาชิก ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม มีโอกาสได้แสดงศักยภาพให้สังคมประจักษ์ ซึ่งทำให้สังคม เกิดเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ ให้การยอมรับคนพิการในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคม สำหรับวันคนพิการสากลประจำปี 2566 องค์กรสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลัก คือ “รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวเพื่อพลิกฟื้นและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อคนพิการโดยคนพิการ” โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งนี้รัฐบาลได้ประกาศแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ( พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมและการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสเพื่อส่งเสริมให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตบนพื้นฐานศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และส่งเสริมความเสมอภาค เป็นธรรม อย่างทั่วถึงเท่าเทียม และสามารถเข้าถึงประโยชน์จากสิทธิได้อย่างแท้จริง
      นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจังหวัดตรัง มีคนพิการ จำนวน 21,587 คน คิดเป็นร้อยละ 3.38 ของจำนวนประชากร โดยเป็นคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหวมากที่สุด จำนวน 11,856 คน รองลงมา คือ คนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวน 3,145 คน และมีแนวโน้มผู้พิการ จะมีจำนวนมากขึ้นตามสถานการณ์ของสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2566 นี้ ซึ่งจะเห็นได้จากการมาจดทะบียนคนพิการใหม่กว่า 60% เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว และการได้ยินหรือสื่อความหมาย ดังนั้นจังหวัดตรัง ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงกำหนดจัดงานวันคนพิการสากลจังหวัดตรังขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือและสนับสนุนอย่างดียิ่งจากหน่วยงานราชการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และประชาชน ในจังหวัดตรัง โดยกิจกรรมในงานวันนี้ ประกอบด้วย
1. มอบช่อดอกไม้ แสดงความยินดีแก่ นายชาตรี บุญมี คนพิการต้นแบบ ซึ่งได้รับโล่จากนายกรัฐมนตรีในงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566
2.มอบเกียรติบัตรให้กับคนพิการตัวอย่างจังหวัดตรัง จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายอธิพัฒน์ สงสัย และนายสุวิจักขณ์ นามสีฐาน
3.มอบเกียรติบัตรให้กับนักกีฬาคนพิการที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดตรัง จำนวน 7 ราย ได้แก่ นายสัมปชัญญ์ สมาธิ นายธนกฤต มัคคินทร นายมาโนช มะลิแก้ว นางสาวนันทนา จิตคำนึง นางสาวพัชรี ดำมณีย์ นายชำนาญ ทรัพย์แก้ว และนางสาวธิดาทิพย์ สิทธิชัย
4. มอบเกียรติบัตรให้กับสถานประกอบการที่มีการจ้างงานคนพิการดีเด่น ประจำปี 2566 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ตรังวัฒนาฟาร์ม จำกัด บริษัทศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทวู้ดเวอร์ค จำกัด
5. มอบเกียรติบัตรให้แก่ ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ที่มีผลงานโดดเด่น จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมืองกันตัง องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนา
6. มอบเกียรติบัตรให้แก่คนพิการที่ประสบความสำเร็จด้านการกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ ประจำปี 2566 จำนวน 2 ราย
7.กิจกรรมมอบเงินสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จำนวน 3 ราย
8.มอบกายอุปกรณ์ (รถสามล้อโยกมือ) ให้แก่คนพิการ จำนวน 4 ราย
9.การแสดงการเต้น และการแสดงละครคนพิการ
10.การออกบูธแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ของคนพิการ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
11.กิจกรรมนันทนาการ พร้อมจับสลากของขวัญที่ได้รับการสนับสนุนมาจากเครือข่ายทุกภาคส่วนมอบให้คนพิการผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 รางวัล
        นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า พม.จังหวัดตรัง ขอขอบคุณเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ให้การสนับสนุนการจัดงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ พม.จังหวัดตรังพร้อมขับเคลื่อนงานด้านสังคมและส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และวันนี้ทาง พม.จังหวัดตรัง ขอเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคน ช่วยกัน แอดไลน์ ESS ซึ่งเป็นระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ติดมือถือไว้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือทุกคนได้ หากตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย/ข่มขู่ว่าจะทำร้าย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือพบเห็นผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และการมั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้ายสามารถกดแจ้งเหตุผ่านไลน์ ESS เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีด้วยระบบ Line OA ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยแก่ตัวเองและชุมชนเพียงแชร์ให้เพื่อน แอดไลน์ @esshelpme หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/GetbF8D นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์โทรสายด่วน 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย


Share:

[DISPLAY_ULTIMATE_SOCIAL_ICONS]