พม.จังหวัดตรัง จัดงานวันคนพิการสากลจังหวัดตรัง ประจำปี 2567

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม 2567 ณ อาคารศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง จัดงานวันคนพิการสากลจังหวัดตรัง ประจำปี 2567 โดยมีนายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันคนพิการจังหวัดตรัง ประจำปี 2567
นายศิร ศรีเมฆชัยกุล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง กล่าวต้อนรับ และมีนายธเนศ ต้องชู ประธานสภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัดตรัง เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมีผู้ร่วมงานประกอบด้วย คนพิการและครอบครัว ผู้ดูแลคนพิการ องค์กรด้านคนพิการ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทั่วไป ประมาณ 900 คน
นายทรงกลด กล่าวว่า สืบเนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ทุกวันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคนพิการสากล และเชิญชวนให้ประเทศสมาชิก ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม มีโอกาสได้แสดงศักยภาพให้สังคมประจักษ์ ซึ่งทำให้สังคม เกิดเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ ให้การยอมรับคนพิการในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคม สำหรับวันคนพิการสากลประจำปี 2567 องค์กรสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลัก คือ “ส่งเสริมความเป็นผู้นำของคนพิการเพื่ออนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืน”
โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งนี้รัฐบาลได้ประกาศแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ ( พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมและการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสเพื่อส่งเสริมให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตบนพื้นฐานศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และส่งเสริมความเสมอภาค เป็นธรรม อย่างทั่วถึงเท่าเทียม และสามารถเข้าถึงประโยชน์จากสิทธิได้อย่างแท้จริง
นายทรงกลด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจังหวัดตรัง มีคนพิการ จำนวน 20,600 คน คิดเป็นร้อยละ 3.31 ของจำนวนประชากร เป็นเพศชาย จำนวน 11,028 คน เพศหญิง จำนวน 9,572 คน โดยเป็นคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหวมากที่สุด จำนวน 11,145 คน รองลงมา คือคนพิการ ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวน 3,220 คน และมีแนวโน้มคนพิการ จะมีจำนวนมากขึ้นตามสถานการณ์ของสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2567 นี้ ซึ่งจะเห็นได้จาก การมาจดทะเบียนคนพิการในจังหวัดตรัง จำนวน 11,032 คน คิดเป็นร้อยละ 53.55 เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งพิการทางการเคลื่อนไหวและการได้ยินหรือสื่อความหมาย ดังนั้น จังหวัดตรัง ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงกำหนดจัดงานวันคนพิการสากลจังหวัดตรังขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือและสนับสนุนอย่างดียิ่งจากหน่วยงานราชการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และประชาชน ในจังหวัดตรัง โดยกิจกรรมในงานวันนี้ ประกอบด้วย กิจกรรมมอบเกียรติบัตร ให้แก่ คนพิการต้นแบบ /คนพิการตัวอย่างจังหวัดตรัง / นักพัฒนาชุมชน (ดีเด่น) ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ / สถานประกอบการที่มีการจ้างงานคนพิการดีเด่น / คนพิการที่ประสบความสำเร็จด้านการกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ ประจำปี 2567 การมอบกายอุปกรณ์ (รถวีลแชร์) ให้แก่คนพิการ และผู้แทนศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชการอำเภอ การแสดงของคนพิการ การออกบูธแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ของคนพิการ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และบริการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่ม สำหรับคนพิการ และผู้ร่วมงานฟรีตลอดงาน
นายทรงกลด กล่าวต่อไปอีกว่า ขอขอบคุณส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรคนพิการทุกองค์กร พี่น้องคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ร่วมกันจัดกิจกรรมเชิงบูรณาการในครั้งนี้ จนบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
นายศิร กล่าวทิ้งท้ายว่า พม.ตรัง พร้อมขับเคลื่อนงานด้านสังคมและส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Share:

[DISPLAY_ULTIMATE_SOCIAL_ICONS]


พม.ตรัง จัดพิธีมอบกายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ ตามโครงการจัดหากายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ จำนวน 72,000 ชุด

          วันศุกร์ที่ 1  พฤศจิกายน  2567  เวลา 09.30 น. ณ ห้องโถง ศาลากลางจังหวัดตรัง ชั้น 1  นายทรงกลด  สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีมอบกายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ ตามโครงการจัดหากายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ จำนวน 72,000 ชุดทั่วประเทศ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา       6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีนายศิร ศรีเมฆชัยกุล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายอำเภอทุกอำเภอ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัดตรัง คนพิการ/ผู้แทนคนพิการ ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีม พม.หนึ่งเดียวจังหวัดตรัง เข้าร่วมในพิธีฯ      

         

 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำโครงการจัดหากายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ โดยจัดหากายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการทั่วประเทศ จำนวน 72,000 ชุด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล             เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งได้บูรณาการการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการสำรวจคนพิการที่มีความต้องการรับอุปกรณ์ช่วยความพิการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามบทบาทภารกิจของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยจังหวัดตรังได้สำรวจความต้องการของคนพิการที่มีความจำเป็นต้องได้รับกายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ ให้กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จำนวนทั้งสิ้น 356 ราย ประกอบด้วยรถเข็นนั่งวีลแชร์ จำนวน 146 ราย, รถสามล้อโยก จำนวน 48 ราย, ไม้เท้าขาว จำนวน 16 ราย,ที่นอนลม 75 ราย, เตียงผู้ป่วย (ปรับระดับได้) จำนวน 84 ราย และกายอุปกรณ์ ที่จำเป็นอื่น ๆ สำหรับคนพิการ จำนวน 57 ราย

         

 ในวันนี้ เป็นการจัดพิธีมอบกายอุปกรณ์สำหรับช่วยคนพิการ ครั้งที่ 1 ซึ่งกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวง พม. ได้จัดสรรกายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการเฉพาะประเภทรถเข็นนั่งวีลแชร์ (Wheelchair) ให้กับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ในเบื้องต้นก่อน จำนวน 86 คัน เพื่อมอบให้กับคนพิการ จำนวน 86 ราย ใน 26 พื้นที่

การจัดพิธีมอบกายอุปกรณ์สำหรับช่วยคนพิการ ครั้งที่ 1  ในวันนี้ (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567)  เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการในเวลา 10.00 น. แล้ว จะดำเนินการส่งมอบรถเข็นนั่งวีลแชร์ (Wheelchair) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเวลา 13.00 – 16.00 น. ณ วิทยาลัยสารพัดช่างตรัง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เพื่อนำไปมอบให้แก่คนพิการในพื้นที่ต่อไป โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ได้รับการอนุเคราะห์สถานที่ในการจัดเก็บกายอุปกรณ์ จากวิทยาลัยสารพัดช่างตรัง

          กิจกรรมวันนี้ จะทำให้คนพิการจะได้รับความสะดวกสบาย มีกายอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ทำให้มีลดปัญหาอุปสรรคความพิการ และลดภาระในการดูแลของในครอบครัว การดำรงชีวิตประจำวันสะดวกขึ้นและมีความสุขมากขึ้น 


Share:

[DISPLAY_ULTIMATE_SOCIAL_ICONS]


คาราวานจิตอาสาพระราชทาน กระทรวง พม.

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 ณ วัดตรังคภูมิพุทธาวาส ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พม.หนึ่งเดียว จังหวัดตรัง (One Home) ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดตรัง เคหะจังหวัดตรัง และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคใต้ จัดกิจกรรม “คาราวานจิตอาสาพระราชทาน กระทรวง พม.” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งบูรณาการร่วมกับที่ทำการปกครองอำเภอกันตัง และเทศบาลเมืองกันตัง โดยมีนางสาวรัตน์ติกรณ์ ศรีสุรนันท์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธี และกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม โดย นางจิรพา เรนเรือง นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กำหนดจัดโครงการ “พม.ร้อยดวงใจ จิตอาสาเพื่อประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเผยแพร่โครงการ กิจกรรม ผลงาน พระราชกรณียกิจ ที่สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวง พม. รวมถึงเพื่อสร้างบุคลากรของกระทรวง พม. ตามแนวทางการเป็นจิตอาสาพระราชทาน ตลอดจนสร้างพลังบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางในระดับพื้นที่
โดยกิจกรรม “คาราวานจิตอาสาพระราชทาน กระทรวง พม.” ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในการขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย การปลูกกล้าพันธุ์ไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างความร่มรื่นภายในบริเวณสถานที่ตั้งของหน่วยงาน และสถานที่สาธารณะ ส่วนการปล่อยขบวนคาราวานจิตอาสาพระราชทาน ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ที่ประสบปัญหาทางสังคมตามภารกิจของกระทรวง พม.
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สังกัดหน่วยงาน พม.หนึ่งเดียว จังหวัดตรัง (One Home) ในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง ผู้แทนนายอำเภอกันตัง ผู้บริหาร พนักงานเทศบาล และเจ้าหน้าที่สำนักงานเทศบาลเมืองกันตัง เข้าร่วมกิจกรรม รวมจำนวน 100 คน โดยร่วมกันทำความสะอาด พัฒนาวัดตรังคภูมิพุทธาวาส ซึ่งเป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน
ในการนี้ นางสาวรัตน์ติกรณ์ ศรีสุรนันท์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง นายสรนนท์ จิโรจน์มนตรี นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง และนายชำนาญ กานต์นภัทร ปลัดอาวุโสอำเภอกันตัง ร่วมกันปลูกต้นตะเคียนทอง จำนวน 3 ต้น ในบริเวณวัดตรังคภูมิพุทธาวาส โดย พม.หนึ่งเดียว จังหวัดตรัง กำหนดเป้าหมายในการปลูกกล้าพันธุ์ไม้ จำนวน 940 ต้น และลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่จังหวัดตรัง ในกิจกรรมดังกล่าว จำนวน 14 ครัวเรือน รวมทั้งดำเนินการติดตามรายงานผลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

Share:

[DISPLAY_ULTIMATE_SOCIAL_ICONS]


พม.หนึ่งเดียวจังหวัดตรัง ปล่อยขบวนรถส่งเด็กๆ กลุ่มเปราะบาง 26 คนไปเข้าเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 จังหวัดนครศรีธรรมราช

 วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง เป็นประธานปล่อยขบวนรถส่งเด็กๆ กลุ่มเปราะบางไปศึกษาเล่าเรียน ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ “เปิดเทอมใหม่ใจฟู ส่งน้องไปโรงเรียน” ซึ่งบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง นำโดย นายนิตินัย อุทัยรังษี หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง พร้อมเจ้าหน้าที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 3 ปี พร้อมมอบอุปกรณ์การเรียน ของใช้ส่วนตัว ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่มระหว่างการเดินทางให้เด็กๆ ที่เดินทางไปโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 26 คน อีกด้วย
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวว่า ในวันนี้ ได้ส่งเด็กๆ จำนวน 26 คน ไปศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงเรียนกลุ่มการศึกษาพิเศษ เป็นโรงเรียนประเภทอยู่ประจำ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาให้ความอุปถัมภ์เป็นการสร้างโอกาสการศึกษาที่เท่าเทียม ในการดูแลเด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพทั้งด้านวิชาการ ทักษะอาชีพ ดนตรี ศิลปะ และกีฬา สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข เป็นการส่งเสริมให้เด็กๆ สามารถศึกษาเล่าเรียนได้สูงสุดตามความสามารถ โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ เพื่ออนาคตที่ดี และสามารถส่งต่อโอกาสให้กับผู้อื่นได้อีกต่อไป
ทางด้านนายนิตินัย กล่าวว่า บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง ในสังกัด กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินโครงการเปิดเทอมใหม่ใจฟู ส่งน้องไปเรียน โดยดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวติดต่อกัน ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เด็กวัยเรียนกลุ่มเปราะบางได้ศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ บริหารจัดการด้านการเงินในการซื้อของตรงตามความต้องการและจำเป็น ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเด็กไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา ผ่านการบูรณาการการทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กในวัยเรียนกลุ่มเปราะบาง อายุระหว่าง 2-18 ปี ที่อาจเป็นเด็กที่เสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา เด็กจากข้อมูลระบบสมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์ (MSO Logbook) ระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก (CPIS) เด็กจากการติดตามเด็กแรกเกิดที่อายุเกิน 6 ปี และเด็กจากฐานข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมประชาชนเครือข่ายจิตอาสาตลอดจนส่วนราชการภาคเอกชนและภาคธุรกิจในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในด้านการศึกษา
สุดท้าย นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 ยังมีกิจกรรมที่จัดขึ้นต่อเนื่องอีก คือ กิจกรรม “พาน้องไปช๊อป (ปิ้ง) รับเปิดเทอม” ณ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ตรัง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนในพื้นที่ตำบลคุ้มครองเด็ก จำนวน 16 คน เพื่อสร้างการรับรู้และการส่งมอบโอกาสให้กับเด็กๆ ในจังหวัดตรังต่อไป

 

#พม.หนึ่งเดียว
#พม.พอใจ ให้ทุกวัยพึงใจใน พม.
#OneHomeพม.ตรัง
@ภาพ/ข่าวโดย:ทีมโฆษก สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง


Share:

[DISPLAY_ULTIMATE_SOCIAL_ICONS]


อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ พม. ลงพื้นที่จังหวัดตรังติดตามการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม 2567 นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุลงพื้นที่จังหวัดตรัง ลงพื้นที่จังหวัดตรัง ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษและติดตามการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุจังหวัดตรัง โดยช่วงเข้าได้ร่วมเป็นเกียรติและบรรยายพิเศษในพิธีเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “สูงวัยอย่างสร้างสรรค์ รู้ทันมิจฉาชีพดิจิทัล” ครั้งที่ ๓ ภายใต้โครงการ “สูงวัยอย่างสร้างสรรค์ รู้ทันมิจฉาชีพดิจิทัล” ซึ่งเกิดจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ เทศบาลนครตรัง กรมกิจการผู้สูงอายุ เครือข่ายชมรมโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง (พมจ.ตรัง) พมจ.กระบี่ พมจ.พัทลุง และ พมจ.นครศรีธรรมราช สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดตรัง ตลอดจนหน่วยงาน One Home พม.จังหวัดตรัง ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน โดยมี สมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เจ้าอาวาสวัดกระพังสุรินทร์ พระอารามหลวง เป็นประธานเปิดการอบรม มี ดร.สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี ศาสตราจารย์ ดร.พระมหาบุญเลิศ อินทปญฺโญ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี และ นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวพบปะให้กำลังใจแก่ผู้สูงอายุ
ในการนี้ นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ร่วมเป็นเกียรติและรับเกียรติบัตรการเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพการสร้างสมรรถภาพในการรับมือภัยจากสื่อออนไลน์ หลักสูตร “สูงวัยอย่างสร้างสรรค์ รู้ทันมิจฉาชีพดิจิทัล” ณ วัดพระงาม ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นการมุ่งเสริมสร้างสมรรถนะผู้สูงวัยในการรู้เท่าทันภัยมิจฉาชีพดิจิทัล มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะเกี่ยวกับการรับมือภัยมิจฉาชีพดิจิทัล ตลอดจนสามารถนำหลักพุทธธรรม ไปประยุกต์ปฏิบัติในการรับมือกับภัยมิจฉาชีพดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้รับผิดชอบโครงการนี้ คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี วัดไร่ ขิง พระอารามหลวง จังหวัดนครปฐม ซึ่งมี ท่านศาสตราจารย์ ดร.พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ (ช่วย ธานี) รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี เป็นหัวหน้าโครงการ โดยได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมในการดำเนินงานประสานร่วมกับโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ แห่งชาติ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ มีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้สูงอายุ จากโรงเรียนผู้สูงอายุ รวมทั้งสิ้นจำนวน 120 คน ประกอบด้วยผู้สูงอายุจากจังหวัดตรัง 60 คน จังหวัดกระบี่ 20 คน จังหวัดพัทลุง 20 คน และจังหวัดนครศรีธรรมราช 20 คน
กิจกรรมประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พลังสูงวัย ป้องกันภัยมิจฉาชีพดิจิทัล การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่นางละออง บุญพรหม เพื่อสดุดียกย่องและเชิดชูเกียรติคลังปัญญาผู้สูงอายุดีเด่นจังหวัดตรัง ประจำปี 2567 สาขาด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ซึ่งมอบโดย นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ และบรรยายพิเศษ เรื่อง “พุทธปัญญารับมือมิจฉาชีพดิจิทัล โดย ดร.ธนกร ศรีสุกใส

หลังจากเสร็จภารกิจโครงการแรกแล้ว อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุได้ร่วมเป็นเกียรติและให้กำลังใจผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพกลไกจังหวัด เพื่อสร้างชมรมผู้สูงอายุให้เข้มแข็งในกิจกรรมเสริมสร้างพลังขยายผลชมรมเข้มแข็งและสร้างแหล่งเรียนรู้ ปี 2 (2567) ณ ห้องประชุมธนารินทร์ 2 ชั้น 2 โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง

จากนั้นได้ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุตำบลละมอ (ศพอส.) โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลละมอ ชมรมผู้สูงอายุตำบลละมอ โดยมี นายอาจินต์ ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละมอพร้อมคณะให้การต้อนรับพร้อมทั้งมีการแสดงของผู้สูงอายุชุดบาสโลบ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง และได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจครอบครัวผู้สูงอายุติดเตียงที่มีความพิการ ทั้งนี้ได้มอบเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาทางสังคม หมู่ที่ 1 ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรังอีกด้วย


Share:

[DISPLAY_ULTIMATE_SOCIAL_ICONS]


พม.หนึ่งเดียวจังหวัดตรังร่วม Kick off “ปฏิบัติการคนไทยไม่ไร้ที่พึ่ง” และปฏิบัติการ “เดินเท้าเข้าหาพาคนเปราะบางพ้นวิกฤต”

     วันอังคารที่ 5 มีนาคม 2567 ณ สถานีรถไฟตรัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง พม.หนึ่งเดียวจังหวัดตรัง (One Home พม.จังหวัดตรัง) ร่วมจัดโครงการ “ปฏิบัติการคนไทยไม่ไร้ที่พึ่งจังหวัดตรัง” เพื่อประกาศเจตนารมณ์การช่วยเหลือคนไร้บ้าน พัฒนาครัวเรือนเปราะบางในภาวะวิกฤต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต อีกทั้งปล่อยขบวนรถศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ออกปฏิบัติการ “ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง” พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งที่จังหวัดตรัง นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ได้กล่าวเปิดงาน และนางสาวกิติยา วงศ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดตรัง กล่าวรายงาน โดยมี นายนิตินัย อุทัยรังษี หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง นายสุวัฒน์ เวียงคำ เคหะจังหวัดตรัง พร้อมด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงาน พม.หนึ่งเดียวจังหวัดตรัง ภาคีเครือข่ายและอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) จังหวัดตรัง กว่า 50 คน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ พร้อมลงพื้นที่ “เดินเท้าเข้าหา พาคนเปราะบางพ้นวิกฤต” ภายใต้การอำนวยความสะดวกของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองตรัง

     นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด พม.ดำเนินโครงการปฏิบัติการคนไทยไม่ไร้ที่พึ่ง เพื่อประกาศเจตนารมณ์ ( Kick Off) พร้อมกันทั่วประเทศ ในการนี้ หน่วยงาน พม.หนึ่งเดียวในพื้นที่จังหวัดตรัง ได้ดำเนินกิจกรรมปล่อยขบวนคาราวานรถปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดตรัง ผ่านสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง อาทิ สถานีรถไฟตรัง หอนาฬิกา และสิ้นสุดที่วงเวียนปลาพะยูน เพื่อสร้างการรับรู้การปฏิบัติงานรวมถึงการบูรณาการร่วมกันกับภาคีเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ ในจังหวัดเพื่อพัฒนาบริการด้านการจัดสวัสดิการสังคมให้กับกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง มีคุณภาพและมาตรฐานขั้นต่ำของบริการสวัสดิการ สามารถสร้างรูปแบบการบริการสวัสดิการแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย โดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

     นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ พม.หนึ่งเดียว จังหวัดตรังได้ลงพื้นที่ “เดินเท้าเข้าหา พาคนเปราะบางพ้นวิกฤต” ซึ่งเป็นครอบครัวเปราะบางมีสมาชิกในครอบครัวที่ต้องอุปการะดูแลเป็นผู้สูงอายุ 1 คน ผู้พิการทางสติปัญญา 1 คน และเด็กในวัยเรียน 3 คน ผู้หารายได้หลักในครอบครัวประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปมีรายได้ไม่แน่นอน อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัว ซึ่งครอบครัวดังกล่าวได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดจากผู้นำท้องที่ท้องถิ่น นำโดย ท่านนายกเทศมนตรีตำบลโคกหล่อ และ อพม.ในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนคนเปราะบาง พม.จังหวัดตรัง จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ วางแผนให้การช่วยเหลือตามรูปแบบ “โมเดลแก้จนคนตรัง” โดยเริ่มจากการพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่มีสภาพเก่าทรุดโทรม โดยเฉพาะประตูบ้านและห้องน้ำชำรุดผุพังมีสภาพไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัยโดยใช้การซ่อมสร้างบ้านผู้สูงอายุ สำหรับในครอบครัวมีผู้พิการอยู่ด้วย จึงวางแผนให้ผู้ดูแลผู้พิการได้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความมั่นคงขึ้นโดยการให้กู้ยืมเงินกองทุนฯคนพิการ ไม่มีดอกเบี้ย เพื่อประกอบอาชีพค้าขายไอศครีม ซึ่งผู้เลี้ยงดูผู้พิการเคยประกอบอาชีพค้าขายไอศครีมมาก่อนแต่ด้วยวิกฤติโควิด-19 ทำให้หยุดชะงักไปเมื่อจะทำใหม่ก็ไม่มีเงินทุน สำหรับเด็กๆในครอบครัวได้วางแผนการศึกษาและช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ฉุกเฉินก่อนในเบื้องต้น ทั้งนี้ อพม. และหน่วยงานในพื้นที่จะร่วมดูแลและติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องต่อไป

     สุดท้ายนี้ พม.หนึ่งเดียวจังหวัดตรัง พร้อมขับเคลื่อนงานด้านสังคมและส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นการทำงานแบบ พม.หนึ่งเดียว ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจกระทรวง พม. ให้บรรลุผลเกิดประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงการป้องกันปัญหาความรุนแรงต่อสวัสดิภาพของประชาชน โดยในวันนี้ พม.จังหวัดตรังได้เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคน ช่วยกัน แอดไลน์ ESS ซึ่งเป็นระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ติดมือถือไว้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือทุกคนได้ หากพบเห็นหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย/ถูกข่มขู่ว่าจะทำร้าย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือพบเห็นผู้คลุ้มคลั่งและการมั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้ายสามารถกดแจ้งเหตุผ่านไลน์ ESS เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีด้วยระบบ Line OA ที่ช่วยสร้างความปลอดภัย แก่ตัวเองและชุมชนเพียงแชร์ให้เพื่อน แอดไลน์ @esshelpme หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/GetbF8D นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์โทรสายด่วน 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย


Share:

[DISPLAY_ULTIMATE_SOCIAL_ICONS]


พม.จังหวัดตรัง สานพลังเครือข่ายจัดใหญ่งานวันคนพิการสากลจังหวัดตรัง

       ในวันอังคารที่ 9 มกราคม 2567 ณ อาคารศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง จัดงานวันคนพิการสากลจังหวัดตรัง ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวเพื่อพลิกฟื้นและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับคนพิการ เพื่อคนพิการ โดยคนพิการ” (United in action to rescue and achieve the SDGs for, with and by persons with disabilities) โดย นายวิชาญ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง กล่าวต้อนรับ และนายธเนศ ต้องชู ประธานสภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัดตรัง เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมีผู้ร่วมงานประกอบด้วย คนพิการ ครอบครัวคนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ องค์กรด้านคนพิการ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทั่วไป ประมาณ 800 คน
      นายวิชาญ กล่าวว่า สืบเนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ทุกวันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคนพิการสากล และเชิญชวนให้ประเทศสมาชิก ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม มีโอกาสได้แสดงศักยภาพให้สังคมประจักษ์ ซึ่งทำให้สังคม เกิดเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ ให้การยอมรับคนพิการในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคม สำหรับวันคนพิการสากลประจำปี 2566 องค์กรสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลัก คือ “รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวเพื่อพลิกฟื้นและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อคนพิการโดยคนพิการ” โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งนี้รัฐบาลได้ประกาศแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ( พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมและการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสเพื่อส่งเสริมให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตบนพื้นฐานศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และส่งเสริมความเสมอภาค เป็นธรรม อย่างทั่วถึงเท่าเทียม และสามารถเข้าถึงประโยชน์จากสิทธิได้อย่างแท้จริง
      นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจังหวัดตรัง มีคนพิการ จำนวน 21,587 คน คิดเป็นร้อยละ 3.38 ของจำนวนประชากร โดยเป็นคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหวมากที่สุด จำนวน 11,856 คน รองลงมา คือ คนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวน 3,145 คน และมีแนวโน้มผู้พิการ จะมีจำนวนมากขึ้นตามสถานการณ์ของสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2566 นี้ ซึ่งจะเห็นได้จากการมาจดทะบียนคนพิการใหม่กว่า 60% เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว และการได้ยินหรือสื่อความหมาย ดังนั้นจังหวัดตรัง ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงกำหนดจัดงานวันคนพิการสากลจังหวัดตรังขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือและสนับสนุนอย่างดียิ่งจากหน่วยงานราชการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และประชาชน ในจังหวัดตรัง โดยกิจกรรมในงานวันนี้ ประกอบด้วย
1. มอบช่อดอกไม้ แสดงความยินดีแก่ นายชาตรี บุญมี คนพิการต้นแบบ ซึ่งได้รับโล่จากนายกรัฐมนตรีในงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566
2.มอบเกียรติบัตรให้กับคนพิการตัวอย่างจังหวัดตรัง จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายอธิพัฒน์ สงสัย และนายสุวิจักขณ์ นามสีฐาน
3.มอบเกียรติบัตรให้กับนักกีฬาคนพิการที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดตรัง จำนวน 7 ราย ได้แก่ นายสัมปชัญญ์ สมาธิ นายธนกฤต มัคคินทร นายมาโนช มะลิแก้ว นางสาวนันทนา จิตคำนึง นางสาวพัชรี ดำมณีย์ นายชำนาญ ทรัพย์แก้ว และนางสาวธิดาทิพย์ สิทธิชัย
4. มอบเกียรติบัตรให้กับสถานประกอบการที่มีการจ้างงานคนพิการดีเด่น ประจำปี 2566 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ตรังวัฒนาฟาร์ม จำกัด บริษัทศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทวู้ดเวอร์ค จำกัด
5. มอบเกียรติบัตรให้แก่ ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ที่มีผลงานโดดเด่น จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมืองกันตัง องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนา
6. มอบเกียรติบัตรให้แก่คนพิการที่ประสบความสำเร็จด้านการกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ ประจำปี 2566 จำนวน 2 ราย
7.กิจกรรมมอบเงินสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จำนวน 3 ราย
8.มอบกายอุปกรณ์ (รถสามล้อโยกมือ) ให้แก่คนพิการ จำนวน 4 ราย
9.การแสดงการเต้น และการแสดงละครคนพิการ
10.การออกบูธแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ของคนพิการ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
11.กิจกรรมนันทนาการ พร้อมจับสลากของขวัญที่ได้รับการสนับสนุนมาจากเครือข่ายทุกภาคส่วนมอบให้คนพิการผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 รางวัล
        นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า พม.จังหวัดตรัง ขอขอบคุณเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ให้การสนับสนุนการจัดงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ พม.จังหวัดตรังพร้อมขับเคลื่อนงานด้านสังคมและส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และวันนี้ทาง พม.จังหวัดตรัง ขอเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคน ช่วยกัน แอดไลน์ ESS ซึ่งเป็นระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ติดมือถือไว้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือทุกคนได้ หากตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย/ข่มขู่ว่าจะทำร้าย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือพบเห็นผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และการมั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้ายสามารถกดแจ้งเหตุผ่านไลน์ ESS เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีด้วยระบบ Line OA ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยแก่ตัวเองและชุมชนเพียงแชร์ให้เพื่อน แอดไลน์ @esshelpme หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/GetbF8D นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์โทรสายด่วน 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย


Share:

[DISPLAY_ULTIMATE_SOCIAL_ICONS]


พม.ตรัง ร่วมกับเครือข่าย CSR และกาชาด ลงพื้นที่ “บ้านตระ” มอบถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน

      เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.30 น. นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นางสาวณัฐยา ทวีวงศ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดตรัง และนางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง (พมจ.ตรัง) นำทีมเครือข่าย CSR และเหล่ากาชาดจังหวัดตรัง ลงพื้นที่บ้านตระ มอบถุงยังชีพ (เครื่องอุปโภค บริโภค) ให้แก่กลุ่มเปราะบางในพื้นที่บ้านตระเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่ไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพตามวิถีชีวิตในการหาของป่า กรีดยาง ซึ่งนัดหมายมารวมตัวกัน ณ จุดสกัดน้ำตกโตนตก ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง

 

        นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ กล่าวว่า พมจ.ตรัง ได้รับการแจ้งประสานจากท่านนายอำเภอปะเหลียน (นายณัฐวุฒิ สังข์สุข) ว่าชาวบ้าน “บ้านตระ” ประสบปัญหาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่โดยทั่วไปในขณะนี้ว่า เสี่ยแป้งนาโหนด ได้หลบหนีเข้าไปในพื้นที่บ้านตระ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เป็นเวลาหลายวัน ทำให้ชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำสวนยางพารา หาของป่า ได้รับผลกระทบ รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย และชีวิตมีความเสี่ยง ไม่กล้าออกไปประกอบอาชีพตามปกติได้ จึงทำให้ขาดรายได้ ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค อยู่ในสถาวะยากลำบากในการดำรงชีวิต ทาง พมจ.ตรัง จึงได้ประสานเครือข่าย CSR ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเหล่ากาชาดจังหวัดตรัง ช่วยกันสนับสนุนเครื่องอุปโภค บริโภคมามอบร่วมกันในวันนี้

โดยในวันนี้ นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ซึ่งให้ความสำคัญในความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาขนเป็นอย่างมาก นำทีมลงพื้นที่มามอบเครื่องอุปโภค บริโภค พร้อมรับฟังปัญหาและให้กำลังใจพี่น้องประชาชนบ้านตระด้วยตัวเอง ทั้งนี้ ประชาชนบ้านตระได้รับการดูแลโดย นายอำเภอปะเหลียน และทีมงานองค์การบริหารส่วนตำบลปะเหลียน ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ซึ่งมีจำนวน 85 ครอบครัว ประชากร 130 คน มาก่อนแล้วอย่างต่อเนื่องโดยตลอด

 

         นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวันนี้ พมจ.ตรัง ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากเครือข่าย CSR ได้แก่ หอการค้าจังหวัดตรัง บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดตรัง บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด(มหาชน) บริษัท ตรังยูซี จำกัด และมูลนิธิคนเห็นคน ร่วมกันทั้งแรงกาย แรงใจ และมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับกลุ่มเปราะบางในพื้นที่บ้านตระ รวมจำนวน 27 ครอบครัว ประกอบด้วย ครอบครัวคนพิการ จำนวน 4 ครอบครัว ครอบครัวผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน จำนวน 5 ครอบครัว และครอบครัวที่มีเด็กอยู่ในวัยเรียน จำนวน 18 ครอบครัว ทั้งนี้ พมจ.ตรัง จะติดตามดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนบ้านตระที่ประสบปัญหาความทุกข์บากเดือดร้อนตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป


Share:

[DISPLAY_ULTIMATE_SOCIAL_ICONS]


พม.จังหวัดตรัง จัดโครงการประชุมสมัชชาครอบครัวจังหวัดตรัง ประจำปี 2566

วันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2566 ณ ห้องนครินทร์บอลรูม โรงแรมรัษฎา อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง จัดโครงการประชุมสมัชชาครอบครัวจังหวัดตรัง ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อความสุขของครอบครัว” โดยมีนางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคม
และความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ และมีนางจิรพา เรนเรือง หัวหน้ากลุ่มการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นผู้กล่าวรายงานสรุปความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนระดับตำบล อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) วิทยากร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้สังเกตการณ์ รวม 150 คน กิจกรรมประกอบด้วยการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น หัวข้อ “สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว การบรรยายให้ความรู้
แนวทางการขับเคลื่อนมาตรฐานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน และการอภิปรายกลุ่ม หัวข้อ “การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อความสุขของครอบครัว

นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร ความจำเป็นทางเศรษฐกิจและการทำงาน ปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม และในปี พ.ศ. 2566 ยังพบว่าจำนวนการจดทะเบียนสมรสลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สถิติการหย่าร้างมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ทำให้โครงสร้างของครอบครัวหรือรูปแบบครัวเรือนที่เปลี่ยนไป ครอบครัวมีรูปแบบในมิติที่หลากหลาย เช่น ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวเดียวกันที่แยกกันอยู่ ครอบครัวขยาย ครอบครัวข้ามรุ่น ครอบครัวแหว่งกลาง ครอบครัวที่ผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันเพียงลำพัง ครัวเรือนเปราะบาง เป็นต้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงมีภารกิจสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย โดยมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสตรีและครอบครัว เพื่อสนับสนุนและยกระดับการทำงานด้านสตรีและครอบครัวในพื้นที่แบบบูรณาการ สร้างความเข้มแข็งของสตรีและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ การขับเคลื่อนกลไกการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว ระดับจังหวัด การส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายสตรี การจัดเก็บข้อมูลครอบครัว การรณรงค์ยุติความรุนแรงในเด็ก สตรี และครอบครัว การเปิดโอกาสและยอมรับจากครอบครัวในเรื่องความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยมีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงาน ร่วมกับภีเครือข่ายในพื้นที่

นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดโครงการในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะและแนวทางในการดำเนินงานด้านครอบครัวอย่างสร้างสรรค์ และจัดทำสรุปข้อเสนอมติสมัชชาครอบครัวระดับชาติ จังหวัดตรัง ประจำปี 2566 เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับครอบครัวต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุมในวันนี้ ได้มีมติสมัชชาครอบครัวจังหวัดตรัง ปี 2566 ดังนี้
1. ควรจัดให้การประชุมหารือโดยมีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในระดับของผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ซึ่งมีความใกล้ชิดประชาชน
2. ควรกำหนดประเด็นด้านครอบครัวในเทศบัญญัติของท้องถิ่น เพื่อให้มีการพัฒนากลไกชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ องค์ความรู้ในท้องถิ่น
3. ควรจัดสถานที่หรือพื้นนที่สาธารณะในการเรียนรู้และส่งเสริมครอบครัว เพื่อลดพื้นที่เสี่ยง ต่อเด็กและครอบครัว
4.การออกแบบสภาพแวดล้อมที่มีความสุข ควรเริ่มจากครอบครัวของตนเอง ส่งเสริมการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว โดยให้ครอบครัวใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกัน
5.ควรมีงบประมาณในการสนับสนุนกิจกรรมของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และทั่วถึงในทุกปี

นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดโครงการฯ ในวันนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ มูลนิธิ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ชุมชนและท้องถิ่น ที่จะเป็นภาคเครือข่ายสานพลังทางสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน และร่วมกันในการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว และขอขอบคุณผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง

ทั้งนี้ พม.ตรัง พร้อมขับเคลื่อนงานด้านสังคมและส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ
โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และวันนี้ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ขอเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมการอบรมทุกคน ช่วยกัน แอดไลน์ ESS ซึ่งเป็นระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ติดมือถือไว้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือทุกคนได้ หากตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย/ข่มขู่ว่าจะทำร้าย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือพบเห็นผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และการมั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้ายสามารถกดแจ้งเหตุผ่านไลน์ ESS เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีด้วยระบบ Line OA ที่ช่วยสร้างความปลอดภัย แก่ตัวเองและชุมชนเพียงแชร์ให้เพื่อน แอดไลน์ @esshelpme หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/GetbF8D นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์โทรสายด่วน 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย


Share:

[DISPLAY_ULTIMATE_SOCIAL_ICONS]


พม.ตรัง จัดพิธีมอบเงินสงเคราะห์เด็กและครอบครัวรายบุคคล พร้อมเชิญชวนแอดไลน์ ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ESS Help Me

     เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ณ ห้องพระยารัษฎา ศาลากลางจังหวัดตรัง ชั้น 5 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีมอบเงินสงเคราะห์เด็กและครอบครัวรายบุคคล โดยมี นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง เป็นผู้กล่าวรายงาน ซึ่งกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้อนุมัติให้การสนับสนุนเงินสงเคราะห์ดังกล่าว แก่ครอบครัว จำนวน 20 ครอบครัว (เด็ก จำนวน 39 คน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 124,500 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นสี่พันห้าร้อยบาทถ้วน) เพื่อช่วยเหลือครอบครัว นำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก ค่าพาหนะ ค่าใช้จ่ายในด้านการศึกษา ตลอดจนนำไปใช้จ่ายเพื่อการสงเคราะห์ครอบครัวในเรื่องการอุปโภคบริโภค รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็น

     นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า กองทุนคุ้มครองเด็ก เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยกำหนดว่าการขอรับสนับสนุนจากกองทุนฯ รายบุคคล ต้องเป็นบุคคล ครอบครัว หรือครอบครัวอุปถัมภ์ที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กที่พึงได้รับการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และต้องเป็นผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากแหล่งทุนอื่น หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพและส่งเสริมความประพฤติเด็ก รวมทั้งครอบครัวและครอบครัวอุปถัมภ์ของเด็ก อีกทั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัวในเบื้องต้น กรณีเด็กที่ถูกบิดามารดาทอดทิ้ง หรือบิดามารดาเสียชีวิต หรือต้องโทษจำคุก และเด็กอยู่ในความดูแลของญาติพี่น้อง ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้ขอให้ทุกครอบครัวร่วมกันเอาใจใส่และดูแลเด็กด้วยความรักความเข้าใจเพื่อให้เด็กได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อสร้างสรรค์เด็กให้เป็นกำลังสำคัญของสังคมในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าในโอกาสต่อไป

     ทางด้าน นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ได้ใช้โอกาสในครั้งนี้ เชิญชวนประชาสัมพันธ์ผู้เข้าร่วมพิธีทุกคน ช่วยกันแอดไลน์ ระบบ ESS Help Me ซึ่งเป็นระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ติดมือถือไว้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา หากตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เช่นถูกทำร้าย /ข่มขู่ว่าจะทำร้าย/ถูกล่วงละเมิดทางเพศ/ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือพบเห็นคนคุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และการมั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้าย สามารถกดแจ้งเหตุผ่านไลน์ ESS เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีด้วยระบบ Line OA ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยแก่ตัวเองและชุมชนเพียงแชร์ให้เพื่อนแอดไลน์ @esshelpme หรือคลิ๊กลิ้งค์ http://lin.ee/GetbF8D และหากประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนสามารถโทรติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์โทรสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง


Share:

[DISPLAY_ULTIMATE_SOCIAL_ICONS]